ความหมายของตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต

ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table, IOT) คือ ตารางที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างการผลิตและการใช้ผลผลิต ทั้งที่ใช้ไปในขั้นสุดท้าย (Final use of goods and Services) และที่ใช้ไปเพื่อการอุปโภคขั้นกลาง (Intermediate Consumption) ซึ่งการใช้เพื่ออุปโภคขั้นกลาง หรือ Intermediate Inter-Industry demand คือหัวใจสำคัญที่สุดของตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต เพราะเป็นการแสดงถึงความเชื่อมโยงระหว่างสาขาการผลิตต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจทั้งหมดเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบและมีความสอดคล้องกัน

ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตถูกคิดค้นและสร้างขึ้นโดย Professor Wassily W. Leontief ในปี ค.ศ. 1951 (รายละเอียดปรากฏใน The Structure of American Economy 1913-1939) แม้ว่าแนวคิดของการเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมหนึ่งไปยังอีกอุตสาหกรรมหนึ่งในระบบเศรษฐกิจได้มีการคิดค้นและอธิบายไว้ก่อนหน้าแล้วก็ตาม แต่ Professor Leontief เป็นคนแรกที่นำแนวคิดของการเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมการผลิตได้อย่างครบถ้วนโดยการนำมาวางแสดงความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งหมดในระบบเศรษฐกิจในรูปของเมทริกซ์ (Matrix) และใช้เทคนิคของ Matrix ดังกล่าววิเคราะห์ความเชื่อมโยงจากคำถามที่ว่าระดับการผลิตของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ภายในระบบเศรษฐกิจใดเศรษฐกิจหนึ่งจะเป็นเท่าไรเมื่อมีความต้องการบริโภคโดยรวมเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจนั้นทั้งหมด ทั้งนี้แนวคิดของการวิเคราะห์ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตจึงแบ่งออกเป็น 2 ระดับ โดยระดับแรกเป็นระบบเศรษฐกิจแบบปิด เมื่อมีความต้องการภายในระบบเศรษฐกิจขึ้นก็จะส่งผลให้การผลิตเพิ่มขึ้นในระบบเศรษฐกิจดังกล่าว ส่วนระดับที่สองเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเปิด เมื่อมีความต้องการเกิดขึ้นภายในระบบเศรษฐกิจ ความต้องการส่วนหนึ่งจะถูกตอบสนองโดยสินค้าและบริการที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ

สาขาการผลิตต่าง ๆ ในตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต เป็นการจำแนกสาขาการผลิตตามประเภทรายการสินค้าและบริการ (Commodity) มิใช่การจำแนกตามกิจกรรมการผลิต (Activity) เหมือนในบัญชีการผลิตของบัญชีรายได้ประชาชาติ (System of national account) ในกรณีของประเทศไทย ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตมีการจัดจำแนกสาขาผลผลผลิตเป็น 4 รูปแบบ โดยจำแนกสินค้าและบริการออกเป็น 180 รายการ, 58 รายการ, 26 รายการ และ 16 รายการ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการจัดจำแนกแบบใดก็ตาม รายการในตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต ก็ยังคงครอบคลุมสินค้าและบริการในทุกภาคเศรษฐกิจที่มีอยู่ทั้งหมด ตั้งแต่กลุ่มภาคการเกษตร กลุ่มภาคการอุตสาหกรรม กลุ่มภาคการค้า และกลุ่มภาคการบริการ

ความสัมพันธ์ระหว่างตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตและบัญชีประชาชาติ 

ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตมีระบบที่คล้ายคลึงกับบัญชีประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบบัญชีประชาชาติปี ค.ศ. 1968 แต่มีส่วนแตกต่างที่สำคัญ คือ ระบบบัญชีประชาชาติจะอธิบายการใช้ปัจจัยการผลิตขั้นกลางในสาขาการผลิตใด ๆ เป็นมูลค่ารวมทั้งหมด แต่ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตมีการแจกแจงรายละเอียดการใช้ปัจจัยการผลิตในแต่ละสาขาต่าง ๆ ทุกสาขาทั้งหมดในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น การจัดทำตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตจึงไม่สามารถทำได้ทุกปี เพราะการรวบรวมข้อมูลปัจจัยการผลิตขั้นกลางต้องใช้การสำมะโนหรือการสำรวจด้วยขนาดตัวอย่างจำนวนมาก มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง โดยทั่วไปการจัดทำตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตจะจัดทำเมื่อเชื่อว่าโครงสร้างการใช้ปัจจัยการผลิตและผลผลิตได้มีการเปลี่ยนแปลงไปดังเช่นในกรณีของประเทศไทยที่จัดทำทุก 5 ปี

ส่วนแตกต่างระหว่างตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต และบัญชีประชาชาติที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การจำแนกสาขาการผลิตในระบบบัญชีประชาชาติเป็นการแยกสาขาตามกิจกรรมการผลิต (Activities) โดยใช้มาตรฐาน ISIC หรือ TSIC (ISIC เป็นมาตรฐานสากล ส่วน TSIC เป็นมาตรฐานของประเทศไทยที่มีการปรับให้สอดคล้องกับระบบกิจกรรมการผลิตของประเทศซึ่งสามารถเทียบเคียงกับ ISIC ได้) ส่วนสาขาการผลิตในตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตนั้นเป็นสาขาการผลิตของสินค้าและบริการ (Commodities) ซึ่งผู้จัดทำสามารถออกแบบการแจกแจงสาขาของ commodities ต่าง ๆ ได้ตามที่ต้องการทราบความเชื่อมโยงระหว่างสาขาเศรษฐกิจการผลิตต่าง ๆ ของประเทศ ในกรณีของประเทศไทย สาขาการผลิตในตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตของประเทศที่ละเอียดที่สุด จำแนกออกเป็น 180 สาขา ซึ่งเป็นการออกแบบการจำแนกสาขาการผลิตโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่น เริ่มใช้ในการจัดทำตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตครั้งแรกในปี ค.ศ. 1975 และได้ใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ ในกรณีของประเทศไทยยังมีความแตกต่างระหว่างตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต และบัญชีประชาชาติในรายละเอียดบางเรื่องที่สำคัญ เช่น การคิดมูลค่าผลพลอยได้ โดยตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตจะใช้ค่าอัตราสัดส่วนโดยประมาณมาคำนวณโดยรวมโดยไม่คำนึงว่าผลพลอยได้นั้นได้มีการซื้อขายกันจริงหรือไม่ ตัวอย่างเช่น การคำนวณมูลค่าแกลบและฟางข้าว ซังข้าวโพด เป็นต้น ในขณะที่บัญชีประชาชาติจะคำนวณหาค่าผลพลอยได้เฉพาะที่เกิดขึ้นและมีการซื้อขายจริงเกิดเป็นรายรับขึ้นมาเท่านั้น การวัดมูลค่าภาคบริการในสาขาภัตตาคาร โดยในตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต มูลค่าของผลผลิตทั้งหมด (Gross Output) วัดจากรายรับของภัตตาคารที่รวมรายรับจากการขายอาหารด้วย (อาหารที่ขายจัดเป็น Intermediate Cost ของสาขาภัตตาคาร) ในขณะที่ ในบัญชีประชาชาติไม่รวมค่าอาหาร ดังนั้นมูลค่ารายรับของภัตตาคารคิดเฉพาะบริการเท่านั้น อย่างไรก็ตาม โดยหลักการแล้วต้องถือว่าระบบของตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตเหมือนกับระบบบัญชีประชาติ

โครงสร้างตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต

สาขาการผลิตที่ 1 สาขาการผลิตที่ 2 สาขาการผลิตที่ n การบริโภคภาค
ครัวเรือน
ค่าใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุน การส่งออก การนำเข้า ผลผลิตรวม
สาขาการผลิตที่ 1 Z11 Z12 Z1n f11 f12 f13 e1 -m1 x1
สาขาการผลิตที่ 2 Z21 Z22 Z2n f21 f22 f23 e2 -m2 x2
สาขาการผลิตที่ n Zn1 Zn2 Znn fn1 fn2 fn3 en -mn xn
ค่าตอบแทน
แรงงาน
l1 l2 ln
ค่าประกอบการ
ส่วนเกิน
k1 k2 kn
ค่าเสื่อมราคา d1 d2 dn
ภาษีทางอ้อมสุทธิ t1 t2 tn
ผลผลิตรวม x1 x2 xn

ตารางปัจจัยการผลิตขั้นกลาง (Intermediate input) อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างสาขาการผลิตต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ซื้อสินค้า-บริการ และผู้ขายสินค้า-บริการเพื่อใช้ในกระบวนการผลิต

ตารางมูลค่าเพิ่ม (Value-added) แสดงถึงมูลค่าของปัจจัยการผลิตขั้นพื้นฐาน ซึ่งผู้ผลิตใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า-บริการที่เป็นปัจจัยการผลิตขั้นกลาง ประกอบด้วย
  • ค่าตอบแทนแรงงาน (Compensation of labor)
  • ค่าประกอบการส่วนเกินของผู้ผลิต (Operating surplus)
  • ค่าเสื่อมราคาของปัจจัยทุน (Depreciation) เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์สำนักงาน เป็นต้น
  • ภาษีทางอ้อม (Indirect tax) เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีการค้า ภาษีสรรพสามิต และค่าธรรมเนียมอื่น ๆ เป็นต้น
ตารางอุปสงค์ขั้นสุดท้าย (Final demand) บันทึกมูลค่าของการขายเป็นสินค้า-บริการเพื่อการบริโภคขั้นสุดท้าย (Final Use) สำหรับผู้บริโภคในระบบเศรษฐกิจ ประกอบด้วย
  • การบริโภคของครัวเรือน (Household consumption)
  • การใช้จ่ายของภาครัฐ (Government expenditure)
  • ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของภาครัฐและเอกชน (Investment expenditure)
  • การเพิ่มขึ้นของสินค้าคงคลัง (Increase in stock)
  • การส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ (Export)
  • การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ (Import) ซึ่งมีค่าติดลบเนื่องจากการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศทำให้ความต้องการสินค้าที่ผลิตในประเทศลดลง
คําอธิบายสัญลักษณ์
xi
xj
Zij
cmpi
govi
invi
exi
imi
wgej
opsj
dpcj
taxj

ความหมายและโครงสร้างของตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต

INDUSTRIES
Agri.   Min.   Cons.   Manu.   Trade Trans.   Serv. PCE.   PFI.   Net  Exports  Govt. Total
COMMODITIES Agriculture
Mining
Construction
Manufacturing
Trade
Transportation
Services
INTERMEDIATE INPUTS FINAL USE TOTAL
GROSS
OUTPUT
Compensation
Taxes
Gross Surplus
VALUE ADDED GROSS DOMESTIC PRODUCT
Total TOTAL GROSS OUTPUT
  • การซื้อวัตถุดิบ หรือ ต้นทุนการผลิต พิจารณาจากแนวตั้งของตาราง ซึ่งในแต่ละสาขาการผลิตจะต้องซื้อวัตถุติบเพื่อนำมาใช้ในการผลิตสินค้า และต้องจ่ายค่าปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ค่าจ้างแรงงานและเครื่องจักร ภาษีที่เกี่ยวข้อง และอื่น ๆ
  • การขายผลผลิต พิจารณาได้จากแนวนอนของตาราง ซึ่งเมื่อพิจารณาในส่วนของแต่ละสาขาการผลิต พบว่า ผลผลิตที่ได้จากการผลิตจะถูกนำไปขายเป็นวัตถุดิบให้แก่สาขาการผลิตอื่น ๆ ตามสัดส่วนความต้องการ และถูกขายเพื่อนำไปบริโภคในระบบเศรษฐกิจ ได้แก่ ภาคครัวเรือน ภาครัฐภาคต่างประเทศ และภาคการลงทุน